วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

นิยามการอ่าน

ความหมายของการอ่าน

การอ่านเป็นกระบวนการพัฒนาทักษะ การรับรู้ความหมายของคำ สัญลักษณ์ ความรู้ ความคิด ความรู้สึกและจินตนาการของผู้เขียน
โดยสิ่งสำคัญคือความเข้าใจในการอ่าน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ (๒๕๔๖: ๑๓๖๔) ให้ความหมายของคำว่า “อ่าน” ไว้ว่า ว่าตามตัวหนังสือ
ถ้าออกเสียงด้วยเรียกว่าอ่านออกเสียง ถ้าไม่ออกเสียงเรียกว่า อ่านในใจ สังเกตหรือพิจารณาดูให้เข้าใจ เช่น อ่านสีหน้า อ่านริมฝีปาก อ่านใจ....
ศิริพร ลิมตระการ (๒๕๔๓ : ๕) ได้กล่าวว่าการอ่านคือ กระบวนการแห่งความคิด ในการรับสารเข้าในขณะที่อ่านสมองของผู้อ่านจะต้องคิดตาม
ผู้เขียนหรือตีความข้อความที่อ่าน ไปด้วยตลอดเวลา ผู้อ่านที่ดีนั้นจะต้องเข้าใจข้อความที่ตนอ่านได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง
สุพรรณี วราทร (๒๕๔๕: ๑๓) ได้อธิบายความหมายของการอ่านโดยสังเขปเปรียบเทียบการอ่านกับกระบวนการถอดรหัส
เป็นปฏิกิริยาอันเป็นผลจากการเห็นสัญลักษณ์ หรือข้อความ การอ่านเป็นเรื่องเกี่ยวกับทักษะทางความคิด เป็นกระบวนการทางสมองที่ซับซ้อน
ประกอบด้วยการเห็นและรับรู้ข้อความ (word perception) การเข้าใจ (apprehention) และการแปลความหมาย (interpretation)
บรรพต ศิริชัย (๒๕๔๗ : ๒) กล่าวว่า การอ่าน หมายถึง กระบวนการทางความคิดในการรับสาร ขณะที่อ่านสมองของผู้อ่านจะต้องแปลความหมาย ตีความข้อความหรือเรื่องราวที่อ่านไปด้วยตลอดเวลา ในระหว่างที่ผู้อ่านกำลังอ่านหนังสืออยู่นั้น จะต้องใช้กลวิธีหลาย ๆ อย่าง เพื่อช่วยให้เข้าใจ
เรื่องราวได้เร็วขึ้นได้แก่ ความรู้เดิมในคำศัพท์ เพื่อใช้อธิบายความหมาย แปลความ ตีความ และขยายความจากเรื่องที่อ่านได้ นอกจากนี้ผู้อ่านจะต้องมีความคิดเชิงวิจารณ์ และสร้างสรรค์ สามารถพิจารณาเหตุผลจากข้อความที่อ่าน เข้าใจความคิดหรือความมุ่งหมายของผู้เขียน รวบรวมความคิดที่ได้จากการอ่าน แล้วนำไปประสานกับประสบการณ์เดิมของตนเป็นความคิดใหม่ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม
สรุปว่า การอ่านเป็นกระบวนการทางความคิดในการรับสาร เป็นพฤติกรรมทางการใช้ภาษาที่มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นการแปลความหมาย
ของตัวอักษร สัญลักษณ์ ภาพที่ได้ดูออกมาเป็นถ้อยคำและความคิด ทำความเข้าใจสิ่งที่อ่านแล้วนำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาตนเอง ทั้งด้านสติปัญญา สังคมและอารมณ์